นาฏศิลป์พื้นเมืองภาคเหนือ


นาฏศิลป์พื้นเมืองภาคเหนือ



วัฒนธรรมภาคเหนือ 


          วัฒนธรรมภาคเหนือ หรือวัฒนธรรมไทยล้านนา 


เป็นภูมิภาคที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีคนไทยหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ และได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน คือ พม่า และลาว วัฒนธรรมภาคเหนือ มีลักษณะดังนี้

          วัฒนธรรมทางสังคม

คนในภาคเหนือจะอยู่กันแบบครอบครัว รักสงบ มีนิสัยอ่อนโยน เป็นมิตร จึงได้ชื่อว่า ถิ่นไทยงาม

          วัฒนธรรมด้านที่อยู่อาศัย

คนในภาคเหนือนิยมสร้างบ้านด้วยไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบะใบตองตึง มีไม้กาแลที่แกะสลักลวดลายสวยงามไขว้ที่หน้าจั่วเป็นสัญลักษณ์ของภาคเหนือ

          วัฒนธรรมด้านภาษา

ภาคเหนือจะมีภาษาพูดและภาษาท้องถิ่นที่ใช้สื่อสารกันเรียกว่า ภาษาคำเมือง ซึ่งมีลักษณะเสียงที่ไพเราะ นุ่มนวล อ่อนหวาน แต่อาจมีสำเนียงแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น 

          วัฒนธรรมด้านอาหาร
ชาวล้านนานิยมรับประทานอาหารตามธรรมชาติอาจเป็นผักป่า ผักข้างรั้วต่าง ๆ และรับประทานข้าวเหนียวเป็นหลัก รสชาติของอาหารจะมีรสเค็มนำแลเผ็ด นิยมแกงแบบน้ำขลุกขลิก ไม่ใช้กะทิเยอะเหมือนภาคกลางการจัดอาหารใส่ขันโตก อาหารภาคเหนือ เช่น แกงโฮะ แกงฮังเล แคบหมู น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง จิ๊นส้ม (แหนม)

          วัฒนธรรมด้านการแต่งกาย




การแต่งกายของชาวเหนือจะแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติและกลุ่มชน ซึ่งมีลักษณะ ดังนี้

ผู้หญิง  สวมเสื้อคอกลมหรือคอจีนแขนยาว ห่มสไบทับและเกล้าผมสวมเครื่องประดับเงิน หรือทอง

ผู้ชาย  สวมเสื้อคอกลมหรือคอจีนสวมกางเกงป้ายหน้า มีผ้าคาดเอว ผ้าพาดบ่า หรือผ้าโพกศีรษะ หรือสวมเสื้อม่อฮ่อม สวมกางเกงสามส่วน มีผ้าคาดเอว และสวมเครื่องประดับเงินทอง
          นอกจากวัฒนธรรมดังกล่าวที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะนิสัยการดำรงชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวเหนือแล้ว ภาคเหนือยังมีประเพณีที่สำคัญ และแสดงถึงวัฒนธรรมทางภาคเหนือ เช่น ประเพณีตานก๋วยสลาก ประเพณียี่เป็ง ประเพณีบวชลูกแก้ว

ลักษณะเฉพาะของนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคเหนือ


          การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคเหนือได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของหลายเชื้อชาติเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมของชาวเหนือทำให้ลักษณะของนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคเหนือมีความหลากหลาย ซึ่งวัฒนธรรมต่างๆ ยังส่งผลให้การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคเหนือส่วนใหญ่มีความอ่อนหวาน อ่อนช้อย เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนชมเดือน แต่มีบางการแสดงที่มีความสนุกสนาน คึกคัก เช่น การตีกลองสะบัดชัย บางการแสดงได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย เช่น ฟ้อนกิงกะหร่า ของชาวไทยใหญ่ ระบำเก็บใบชา ของชาวไทยภูเขา

          ลักษณะการแต่งกายในการแสดงนาฏศิลป์พื้นเมือง จะแต่งกายแบบวัฒนธรรมของชาวเหนือและเหมาะสมกับลักษณะของการแสดง

          ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง จะใช้วงดนตรีพื้นบ้าน เช่น วงกลองแอว วงสะล้อ ซอ ซึง วงกลองปู่เจ่

ตัวอย่างการแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคเหนือ


          ตีกลองสะบัดชัย          การตีกลองสะบัดชัย เป็นศิลปะการแสดงพื้นเมืองของชาวล้านนา มีลีลาท่าทางโลดโผน 

          ลักษณะการแสดง จะตีกลองด้วยลีลาท่าทางต่าง ๆ ซึ่งกลองสะบัดชัยประกอบด้วยกลองสองหน้า ขนาดใหญ่ 1 ลูก กลองขนาดเล็กหรือเรียกว่า ลูกตุบ 2-3 ลูก ลักษณะการตีกลอง มีดังนี้

  • ตีเรียกคน เช่นมีการประชุมกัน ก็ตีเฉพาะกลองใหญ่ โดยตีจากจังหวะช้าและเร่งเร็วขึ้น
  • ตีบอกเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ ไล่ขโมย จะตีเฉพาะกลองใหญ่ มีจังหวะเร่งเร็วติด ๆ กัน
  • ตีในงานบุญ จะตีทั้งกลองใหญ่และลูกตุบ มีจังหวะเร่งเร็วเสมอต้นเสมอปลาย โดยมีคนใช้แส้ไม้ไผ่ที่เรียกว่า ไม้แสะ ฟาดหน้ากลองให้จังหวะ แต่ไม่มีฉาบและฆ้องประกอบ

          การตีลักษณะดังกล่าวเป็นการตีอยู่กับที่ ต่อมาเมื่อนำมาตีในขบวนต่าง ๆ จึงใช้จังหวะและทำนองล่องน่าน ผู้ตีกลองสะบัดชัยจะมีลีลาการตีต่าง ๆ โดยใช้อวัยวะ เช่น ศีรษะ ข้อศอก แต่จะไม่ให้อวัยวะเหล่านี้สัมผัสถูกหน้ากลองจริง ๆ เพราะถือว่ากลองเป็นของศักดิ์สิทธิ์

ปัจจุบันการตีกลองสะบัดชัยเป็นที่นิยม มีการแข่งขันกัน มีท่าทางใหม่ ๆ เช่น การต่อตัว พ่นไฟ แปรขบวน จึงเป็นการแสดงที่เป็นมรดกและเอกลักษณ์ของภาคเหนือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น